วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การเลี้ยงหม่อนไหม


สารคดีการเลี้ยงหม่อนไหม

          กรมหม่อนไหมนี้จัดตั้งเพื่อให้เป็นหน่วยงานหนักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่งานวิจัย งานส่งเสริม งานรักษ์คุ้มครอง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหมอย่างครบวงจร พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 19  มกราคม 2542 ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านแม่ตุงติง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่า “การเลี้ยงไหมนอกจากจะเป็นการเสริมรายได้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่และดีงามของชาติไทยที่สืบต่อกันมานานอีกด้วย ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การพัฒนาการเลี้ยงไหมก็ต้องดำเนินต่อไป” ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า “ไหมคือศรีแห่งแผ่นดิน”
           ไหมแต่ละสายพันธุ์นั้นก็ให้ผลผลิตที่แตกต่างกันไป มีหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ยุโรป พันธุ์จีน พันธุ์ญี่ปุ่น พันธุ์ไทย ซึ่งพันธุ์ไทยไข่จะฟักตลอดปี รังเล็กบาง มีขี้ไหมมาก ลักษณะรังคล้ายรูปกระสวย สีเหลือง แตกต่างจากพันธุ์อื่นๆที่ฟักตัวปีละครั้ง สายพันธุ์หนอนไหมของประเทศไทยแบ่งลงไปอีกว่าเป็นพันธุ์พื้นบ้านหรือพันธุ์ผสม พันธุ์พื้นบ้านที่นิยมเลี้ยงก็จะมี พันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ พันธุ์นางน้อยสกลนคร พันธุ์สำโรง พันธุ์นางลาย ส่วนพันธุ์ผสม ได้แก่ พันธุ์อุบลราชธานี  พันธุ์อุดรธานี พันธุ์สกลนคร ทั้งนี้การเลี้ยงไหมนั้นไม่ได้เลี้ยงกันง่ายๆ ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ยิ่งกว่าไข่ในหินเสียอีก
  
คุณน้าเก๊าะ นางสาวธัญเรจ เปกขานัง เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม

จากการลงสำรวจพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคาม ที่บ้านโนน ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุมนั้น ได้รับการอนุเคราะห์จาก คุณน้าเก๊าะ นางสาวธัญเรจ เปกขานัง อายุ 48 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 122 หมู่ 12 เป็นเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงหม่อนไหม คุณน้าบอกว่า “ในหมู่บ้านไม่มีใครเลี้ยงไหมแล้ว นี่ก็เพิ่งเข้าร่วมโครงการมาได้ปีกว่า สำหรับการเลี้ยงไหมจะต้องดูแลเอาใจใส่มากเหมือนกับทารกน้อยเลยก็ว่าได้เพราะหนอนไหมเป็นหนอนที่อ่อนไหวมาก ขาชั้นต้องมีแก้วรองและใส่น้ำป้องกันมด ต้องหาผ้ามาคลุมกระด้งเพื่อป้องกันแมลงวัน สภาพอากาศก็สำคัญหากอากาศร้อนเกินไปก็ไม่ดี พอหน้าฝน อากาศจะชื้นก็จะได้ผลผลิตไม่เยอะ หนอนไหมจะชอบอากาศแห้งและเย็นจึงจะได้ผลผลิตดี ซึ่ง ส่วนอาหารของหนอนไหมคือ ใบหม่อนให้ 3 เวลา คือ 6 โมงเช้า เที่ยง และ 6 โมงเย็น สำหรับราคาของไหมตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,800 บาท”


ระยะที่ไหมสุกจึงเริ่มเก็บใส่จ่อ

          กว่าที่หนอนไหมจะสุกนั้นก็ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 26 วัน มี 5 ระยะ แต่ละระยะจะมีการลอกคราบ เพื่อขยายขนาด การลอกคราบจะใช้เวลาครั้งละ 24 ชั่วโมง ปกติหนอนไหมจะกินอาหารตลอดเวลา เว้นแต่ตอนลอกคราบตัวหนอนระยะสุดท้ายจะมีขนาดใหญ่ที่สุด  เมื่อมีอายุ 3-4 วัน หนอนไหมจะหยุดกินอาหารอยู่เฉยๆ ประมาณ 1 วันจึงลอกคราบใหม่ ระยะนี้เรียกว่า "ไหมนอน" เมื่อลอกคราบหมดแล้ว ก็จะเริ่มกินอาหารต่อไป ตัวและหัวใหญ่ขึ้น ระยะนี้เรียกว่า "ไหมตื่น" โดยทั่วๆ ไป หนอนไหมจะนอน (ลอกคราบ) 4 ครั้ง ก็จะขึ้นวัย 5 กินอาหารจุจนอายุได้ 7-8 วัน ก็จะเริ่มหยุดกินอาหาร ลำตัวมีสีขาวหรือเหลืองใสหดสั้นลง ซึ่งเป็นระยะที่หนอนเติบโตเต็มที่แล้ว เรียกว่า "ไหมสุก" เริ่มพ่นใยออกมาจากปากเพื่อทำรัง ช่วงนี้ควรเก็บไหมใส่ในจ่อ เพื่อให้ไหมทำรังต่อไป หนอนไหมจะเสียเวลาในการชักใยทำรังอยู่ 2 วัน ก็จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ และเมื่ออยู่ในรังได้ครบ 10 วัน ก็จะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อ ไหมที่จะใช้ทำพันธุ์จะต้องคัดรังที่สมบูรณ์ขนาดใหญ่ไว้ต่างหาก ที่เหลือก็นำไปสาว รังที่ผีเสื้อไหมเจาะออกแล้ว เส้นใยจะขาดใช้สาวเป็นเส้นไม่ได้ วิธีนี้เป็นวิธีแบบเก่าที่ใช้เลี้ยงและเก็บผลผลิตไหมแบบใส่จ่อ
          คุณน้าเก๊าะได้บอกว่า ปัจจุบันมีการทำไหมแผ่นโดยการนำหนอนไหมที่สุกแล้ว ไปวางบนกงหมุน ให้หนอนพ่นใยออกมาใส่กงหมุนหลังจากที่เต็มแล้วก็สามารถตัดขายได้เลย นอกจากที่หนอนไหมจะสร้างใยไหมเพื่อไปถักทอเป็นลวดลายสวยงามลงบนผ้า กลายเป็นชื่อเรียกว่าผ้าไหมแล้วนั้น ทราบหรือไม่ว่าหนอนไหมก็สามารถรับประทานได้นั้นก็คือดักแด้นี่เอง หลังจากที่สาวไหมออกแล้วก็จะเหลือตัวดักแด้ไว้ ชาวบ้านจะนำไปประกอบอาหารคือ การคั้วหรือการทอด แต่ก่อนดักแด้ไหมเป็นเพียงอาหารพื้นบ้านทั่วๆไปแต่ในปัจจุบันดักแด้ไหมได้กลายเป็น นวัตกรรมสุขภาพและยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์เพราะมีราคาสูง



                                                                การเลี้ยงไหมแบบใหม่ที่ใช้กงหมุน เป็นไหมแผ่น

ผลผลิตจากหนอนไหม คือผ้าไหมที่สวยงาม

ดักแด้ทอดตามท้องตลาด


คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า  ดักแด้ไหมสามารถเพิ่มการเรียนรู้และความจำทั้งยังสามารถป้องกันภาวะ ความจำบกพร่องที่พบในโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยโปรตีนและมีกรดอะมิโนสำคัญจำนวนมากทั้งยังพบอีกว่าดักแด้ไหม สามารถป้องกันและลดอันตรายจากการทำลายสมองเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคพิษสุราเรื้อรัง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปกป้องสมอง 
งานวิจัยเบื้องต้นของนักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการแพทย์ทางเลือกแบบบูรณาการ พบว่าสารสกัดดักแด้ไหมสามารถลดความบกพร่องทางสมองในแบบจำลองของภาวะออทิสติกได้ ยิ่งไปกว่านั้นสารสกัดดักแด้ไหมยังมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดตลอดจนลดการเกิดหลอดเลือดตีบ (Atherosclerotic plaque) ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม FAO( องค์การอนามัยโลก ) ถึงพยายามผลักดันให้แมลงเป็นอาหารจานหลักที่จะนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เมื่อทราบถึงประโยชน์ของดักแด้แล้ว ก็ควรไปหามาบริโภค แต่ก่อนนั้นหากจะหากินดักแด้ทอดได้เราก็คงต้องไปหาซื้อตามตลาดนัดหรือต้องรอรถพ่วงที่เร่ขายแต่สมัยนี้ไม่ต้องไปตามหาที่ตลาดหรือต้องรออีกแล้วเพียงแค่เดินเข้าไปในเซเว่นฯก็ได้รับประทานสมใจแล้ว เพราะนวัตกรรมที่เจริญก้าวหน้าได้พัฒนาอาหารท้องถิ่นพื้นบ้าน ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นถือเป็นการยกระดับอาหารท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง

    
                                                        การยกระดับอาหารพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

จากหนอนตัวเล็กๆที่ใครต่อใครต่างขยาดกลัวและรังเกียจ หารู้ไม่ว่าหนอนอย่างหนอนไหมก็สร้างคุณประโยชน์ได้มากมาย ทั้งสร้างรายได้กับเกษตรกร สร้างชื่อเสียงให้เลื่องลือกับผ้าไหมจนเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของเราอีกด้วย ลองคิดเล่นๆหนอนไหมก็มีประโยชน์มากกว่ามนุษย์โลกบางคนที่ไม่แม้แต่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกมิหนำซ้ำยังทำลายจะโลกอีก

คงจะดีไม่น้อยถ้าหากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการเลี้ยงไหมนี้จะถูกอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทย เหมือนกับที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เล็งเห็นว่าไหมคือศรีของแผ่นดิน และคงจะดีไม่น้อยหากเยาวชนรุ่นใหม่รู้จักสนใจ นำไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักด้วยความภาคภูมิใจ





 ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก 
         คุณน้าเกาะ นางสาวธัญเรจ เปกขานัง เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม จ.มหาสารคาม
         สารานุกรไทยสำหรับเยาวชน.(2559).ประวัติการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม.         http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=7&chap=3&page=t7-3-infodetail01.html สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560,
         การจัดการความรู้กรมหม่อนไหม.วิธีการเลี้ยงหม่อนไหม.(2558). http://www.qsds.go.th/KMweb/knowledge/knowledge12.html สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560


จัดทำโดย นางสาวกนกวรรณ อนุอัน, นางสาวทิราภรณ์ วงษ์ละคร และนางสาววรรณภา ศีรษะแก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น