ขอบคุณ
หรือ
ขอบใจ
ปัจจุบันภาษาไทยมีการใช้ผิดเพี้ยนกันเยอะมาก
ซึ่งปัญหาเล่านี้เริ่มมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
แล้วที่เห็นได้บ่อยที่สุดก็คือในอินเทอร์เน็ต ในเพจต่าง ๆ มีการใช้คำแสลง
การใช้คำที่คิดขึ้นมาใหม่ มีการสะกดคำผิด การใช้คำที่ผิดความหมาย
หรือแม้กระทั้งการใช้คำที่ไม่ถูกสถานะกับบุคคล
คุณเคยสังเกตบ้างไหมคะ
คำบางคำเขียนต่างกัน แต่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน แล้วเราจะใช้ยังไง? คุณเคยสงสัยบ้างหรือเปล่า? อย่างคำว่าขอบคุณ
และคำว่าขอบใจ ที่มีหน้าที่การใช้คำที่เหมือนกันแต่คำทั้งสองคำนี้ก็ใช้ในโอกาสที่ต่างกัน
แล้วคุณทราบไหมว่าคำสองคำนี้ใช้ต่างกันอย่างไร?
ดิฉันเคยอ่านเจอในเพจที่มีคนมาตั้งกระทู้สำหรับการใช้คำว่าขอบคุณและขอบใจแต่คุณเชื่อไหมว่าคำทั้งสองคำยังมีคนเข้ามาถกถียงว่าจะต้องใช้อย่างไรถึงจะถูกต้องกันอยู่มากเลยทีเดียว
บางคนก็บอกว่า คำว่า “ขอบใจ ใช้กับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเทียบเท่า” ส่วนคำว่า
“ขอบคุณ ใช้กับผู้อาวุโสกว่า” บางคนก็บอกว่า คำว่า “ขอบใจ ใช้แบบเป็นกันเอง
ใช้กับคนที่สนิท คำว่าขอบคุณ ใช้แบบเป็นทางการ” บางคนก็เข้าใจว่า “ใช้คำว่าขอบคุณดูเป็นกันเองมากกว่าคำว่าขอบใจ
เพราะคำว่าขอบใจมันดูเหมือนห่างเหินเกินไป” บางคนก็บอกว่า “ก็ใช้คำว่าขอบคุณ
กับทุกคนนะ เราว่ามันไม่มีถูกมีผิดหรอก” บางคนก็บอกว่า
“ใช้อะไรก็ใช้ไปเถอะครับเหมือน ๆ กันนั้นแหละ” หรือบางคนก็ถามหาคนที่กำหนดบางแหละ
บางคนก็ถามว่าเราจะเปลี่ยนจากที่ใช้อยู่เดิมไม่ได้หรือ?และอีกมากมายหลายเหตุผลกันทีเดียว
ในการเขียนการ์ดแสดงความรู้สึกในโอกาสต่าง ๆ ก็เหมือนกัน
บางคนก็ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องของคำว่าขอบคุณและขอบใจเลยด้วยซ้ำไป
เขียนการ์ดถึงญาติผู้ใหญ่ใช้คำว่า “ขอบใจจ้า” บางคนใช้ต่างกัน คือใช้คำว่า
“ขอบคุณนะคะ” แต่เขียนการ์ดให้คนที่อายุน้อยกว่า ใช้คำว่าคำว่า “ขอบใจจ๊ะ”
บางคนก็ใช้ “ขอบคุณนะ” ก็มี
หรือแม้คนรอบ
ๆ ตัวของดิฉันเอง มีอยู่หลายคนเหมือนกันเมื่อพูดกับผู้ใหญ่ก็ใช้คำว่า “ขอบใจจ้า”
บางคนก็ใช้คำว่า “ขอบคุณค่ะ” และเมื่อพูดกับรุ่นน้องก็มีทั้งใช้คำว่า “ขอบใจนะจ๊ะ”
“ขอบคุณจ๊ะ” ก็มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่มากเลยทีเดียวว่าใช้แบบไหนถึงจะถูกต้องและเหมาะแก่สถานะของผู้ที่เราจะขอบคุณหรือขอบใจ
คำว่า
ขอบคุณ และคำว่าขอบใจ ถ้าหากเปิดหาความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.
2554 คำว่า ขอบคุณ, ขอบพระคุณ หมายถึง คำกล่าวแสดงความรู้สึกบุญคุณ
(เป็นคำที่ใช้แก่บุคคลที่เสมอกัน หรือผู้น้อยใช้แก่ผู้ใหญ่). ส่วนคำว่า ขอบใจ
หมายถึง คำกล่าวแสดงความรู้สึกพอใจในความดีที่ผู้อื่นได้มีต่อตน
(เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช่แก่ผู้ผู้น้อย).
อย่างใน พจนานุกรมแปลไทยเป็นไทย
อ. เปลื้อง ณ นคร คำว่า ขอบคุณ หมายถึง คำกล่าวแสดงความรู้สึกบุญคุณ (ผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่)
(เหมือน ขอบพระคุณ) ส่วนคำว่า ขอบใจ หมายถึง
คำกล่าวแสดงความรู้สึกบุญคุณที่เขามีใจดีต่อ (ผู้ใหญ่ใช้กับผู้น้อย)
จะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่า
ขอบคุณและขอบใจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 และตามพจนานุกรมแปลไทยเป็นไทย
ของ อ. เปลื้อง ณ นคร มีความหมายที่เหมือนกันคือ คำว่า ขอบคุณ
เป็นคำที่ผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่ ส่วนคำว่า ขอบใจ เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้กับผู้น้อย
และบุคคลที่เสมอกันนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ใช้คำว่า
ขอบคุณ
คำว่า
ขอบคุณหรือขอบใจ ถือเป็นการใช้ภาษาที่สื่อถึงมารยาทอันดีงามอย่างหนึ่งที่เราควรที่จะให้ความสำคัญ
และรักษาเอาวัฒนธรรมดีๆ เหล่านี้ไว้ ไม่ให้เลือนหายไปกับการเวลา ไม่ควรที่จะบอกว่าใช้อะไรก็ได้หรือจะใช้อะไรก็ได้
จริงอยู่ที่เราสามารถที่จะเลือกใช้คำว่าอะไรก็ได้
แต่เลือกใช้สิ่งที่ถูกไม่ดีกว่าหรือ? เลือกเขียนให้ถูกตามสถานะของบุคคลไม่ได้หรือ?
เลือกทำตามสิ่งที่บรรพบุรุษเขาเราพาปฏิบัติกันสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นดีกว่าไหม?
ได้โปรดอย่าเพิ่งมองว่าเราเยอะกับคำธรรมดาสองคำนี้
คำว่าขอบคุณ และขอบใจ ถึงจะเป็นคำสั้น ๆ แต่เป็นคำที่กล่าวแล้วให้ความรู้สึกสุขใจทั้งผู้พูดและผู้ฟังเสมอ
คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าการใช้คำธรรมดาสองคำนี้เป็นปัญหาที่เล็กมาก
แต่ปัญหาเล็ก ๆ นี้อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ใหญ่ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นแล้วเราคนไทยควรตระหนักในการเลือกใช้คำให้ถูกต้อง
เพื่อจะรักษาความเป็นไทยเอาไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น